ประวัติศาสตร์จีน

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

จีนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ยุคแรกอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นประเทศจีนเมื่อ 2.25 ล้านปีมาแล้ว ฟอสซิลของมนุษย์ปักกิ่งซึ่งถือเป็นโฮโมอิเร็กตัส กลุ่มแรก ๆ ที่ริเริ่มการใช้ไฟถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งบริเวณเขตฟางซานทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง มีอายุระหว่าง 680,000 ถึง 780,000 ปีก่อน ในขณะที่ซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ (มีอายุ 125,000–80,000 ปีก่อน) ถูกค้นพบในถ้ำในมณฑลหูหนาน

การปกครองในยุคแรก

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ราชวงศ์แรกที่ปกครองประเทศจีนคือราชวงศ์เซี่ย ในช่วง 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล มีอายุอยู่ได้ราว 500 ปี ราชวงศ์เซี่ยถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเมืองของจีนที่มีพื้นฐานมาจากราชวงศ์ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งกินเวลานานนับพันปี ราชวงศ์ซางที่สืบต่อมาจากราชวงศ์แรกสุดได้รับการยืนยันจากบันทึกร่วมสมัย โดยปกครองที่ราบแม่น้ำฮวงโหทางตะวันออกของจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตศักราช อักษรกระดูกออราเคิล (ตั้งแต่ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช) แสดงถึงรูปแบบการเขียนภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบ และเป็นต้นกำเนิดโดยตรงของตัวอักษรจีนสมัยใหม่

ราชวงศ์ซางถูกโค่นล้มโดยราชวงศ์โจวเริ่มประมาณ 1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึง 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช นับเป็นราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุด ด้วยเวลาที่ยาวนานกว่า 867 ปี ในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน โดยเป็นยุคถือกำเนิดของการกำเนิดของปรัชญาเมธีหลายท่าน เช่น ขงจื๊อ เล่าจื๊อ ซุนวู เป็นต้น ความขัดแย้งภายในโดยขุนศึกศักดินาก่อให้เกิดการสู้รบกันอยู่เนือง ๆ ซึ่งกินเวลาหลายศตวรรษเรียกว่า ยุครณรัฐ นักปราชญ์มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการปกครอง ในยุคนั้นยังมีรัฐมหาอำนาจหลักอีก 7 รัฐที่เหลืออยู่

จักรวรรดิจีน

ยุคสงครามสิ้นสุดลงในช่วงปี 221 ก่อนคริสตศักราช หลังจากที่รัฐฉินพิชิตอาณาจักรที่เหลืออีก 6 อาณาจักร รวมจีนเข้าด้วยกันอีกครั้ง และสถาปนาระบบการปกครองแบบเผด็จการที่โดดเด่น จิ๋นซีฮ่องเต้ สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน ตามมาด้วยประกาศใช้การปฏิรูปกฎหมายฉินทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบังคับกำหนดมาตรฐานของตัวอักษรจีน การวัด ความกว้างของถนน (เช่น ความยาวของเพลารถเข็น) และสกุลเงิน ราชวงศ์ของพระองค์ยังพิชิตชนเผ่าเย่ว์ในกวางสี กวางตุ้ง และเวียดนามตอนเหนือด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายการปกครองแบบเผด็จการนำไปสู่การต่อต้านและการก่อกบฎ ราชวงศ์ฉินดำรงอยู่เพียงสิบห้าปีสิ้นสุดลงด้วยการสวรรคตของพระองค์

ภายหลังสงครามฉู่–ฮั่น ที่แพร่ขยายออกไปในระหว่างที่หอสมุดจักรพรรดิที่เสียนหยางถูกเผา ราชวงศ์ฮั่นได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อปกครองจีนระหว่างปีคริสตศักราช 206 ถึงคริสตศักราช 220 และได้สร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่จดจำในชาติพันธุ์วิทยาของชาวจีนฮั่นสมัยใหม่ มีการขยายอาณาเขตของจักรวรรดิอย่างมาก ไปถึงบริเวณเอเชียกลาง มองโกเลีย เกาหลีใต้ และยูนนาน และการฟื้นฟูกวางตุ้งรวมถึงเวียดนามตอนเหนือ การมีส่วนร่วมของราชวงศ์ฮั่นในเอเชียกลาง ก่อให้เกิดการสร้างเส้นทางสายไหมอันเลื่องชื่อ แทนที่เส้นทางเดิมเหนือเทือกเขาหิมาลัยไปยังอินเดีย และจีนฮั่นได้กลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ แม้ว่าราชวงศ์ฮั่นจะกระจายอำนาจในช่วงแรก และการละทิ้งปรัชญาฉินแห่งลัทธิเคร่งครัดเพื่อสนับสนุนลัทธิขงจื๊ออย่างเป็นทางการ แต่นโยบายที่เคร่งครัดในราชวงศ์ฉินยังคงถูกใช้งานโดยชาวฮั่นและผู้สืบทอดในรุ่นต่อ ๆ มา

ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น อยู่ในรัชกาลอันวุ่นวายของพระเจ้าเหี้ยนเต้ จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น ในช่วงนี้ บ้านเมืองปั่นป่วนเพราะกบฏโพกผ้าเหลือง (ค.ศ. 184–205) สถาบันต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็ถูกขุนศึกตั๋งโต๊ะล้มล้างจนแตกแยกออกเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่อยู่ใต้การปกครองของขุนศึก เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ยุคสามก๊ก เป็นยุคที่นองเลือดที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เหตุการณ์สำคัญมากมายในช่วงเวลานี้ได้มีอิทธิพลมาถึงปีจจุบันและได้รับการบอกเล่าเรื่องราวผ่านวรรณกรรมหลายรูปแบบ ซึ่งได้กลายมาเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ราชวงศ์จิ้น ถูกก่อตั้งสถาปนาโดยซือหม่าหยานหรือสุมาเอี๋ยน มีอายุอยู่ระหว่าง ค.ศ. 266 ถึง ค.ศ. 420 ราชวงศ์จิ้นมีมาก่อนยุคสมัยสามก๊ก และถูกรับช่วงต่อโดยสิบหกอาณาจักรในแผ่นดินจีนตอนเหนือ จักรพรรดิหลิวซ่งอู่ ได้ทำการปลด จักรพรรดิจิ้นกง ลงจากราชบัลลังก์ทำให้ราชวงศ์จิ้นตะวันออกสิ้นสุดลงพร้อมกับสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลิวซ่ง ตามมาด้วยการสืบราชบัลลังก์โดยจักรพรรดิหลิวซ่งเฉ่า และผู้สืบทอดอีกมากมายซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ โดยทั้งสองพื้นที่กลับมารวมกันอีกครั้งในที่สุดโดยราชวงศ์สุยใน ค.ศ. 581 ยุคนี้มีเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นให้กลับมามีอำนาจ การปฏิรูปการเกษตร เศรษฐกิจ และระบบการตรวจสอบจักรวรรดิ การสร้างคลองขนาดใหญ่ และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ก็ล่มสลายอันเป็นผลมาจากสงครามอาณาจักรโคกูรยอ

ภายใต้การสืบทอดของราชวงศ์ถังและซ่ง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของจีนได้เจริญรุ่งเรื่องถึงขีดสุดในยุคทอง ราชวงศ์ถังยังคงควบคุมภูมิภาคตะวันตกและเส้นทางสายไหม ซึ่งนำพ่อค้าชาวจีนเดินทางไปไกลถึงเมโสโปเตเมียและทวีปแอฟริกา และทำให้เมืองฉางอานหลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากล ก่อนจะถูกโค่นล้มโดยกบฏอันหลู่ซานหรือที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์จีนในชื่อกบฏอัน-ซือในศตวรรษที่ 8 ในปี 907 ราชวงศ์ถังล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อทหารผู้ปกครองในท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายได้ ราชวงศ์ซ่งยุติสถานการณ์การแบ่งแยกดินแดนใน ค.ศ. 960 นำไปสู่ความสมดุลแห่งอำนาจในยุคห้าวงศ์สิบรัฐ ยุคราชวงศ์ซ่งเป็นผู้ปกครองรัฐกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ออกธนบัตรเป็นแผ่นกระดาษ และจัดตั้งกองทัพเรือถาวรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการต่อเรือที่พัฒนาแล้วพร้อมกับการค้าทางทะเล

ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 11 ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเป็นประมาณ 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเพราะการขยายการเพาะปลูกข้าวในภาคกลางและตอนใต้ของจีน และการผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ราชวงศ์ซ่งยังเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูของลัทธิขงจื๊อ เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของพุทธศาสนาในสมัยถัง และความเจริญรุ่งเรืองของปรัชญาและศิลปะ อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอทางทหารของกองทัพซ่งถูกท้าทายโดยชาวนฺหวี่เจิน ราชวงศ์จิน จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1100 เมืองหลวงอย่างไคเฟิงถูกยึดรองในระหว่างสงครามจิน-ซ่ง การพิชิตจีนของมองโกลเริ่มต้นใน ค.ศ. 1205 ด้วยการพิชิตเซี่ยตะวันตกอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเจงกิส ข่าน ต่อมา กุบไล ข่าน สามารถเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีน และยึดครองปักกิ่ง และปกครองประเทศจีน ก่อนการรุกรานมองโกล ประชากรของจีนซ่งมีประชากร 120 ล้านคน ลดลงเหลือ 60 ล้านคนจากการสำรวจสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1300 ในเวลาต่อมาได้เกิดกบฏโพกผ้าแดง ระหว่าง ค.ศ. 1351 ถึง 1368 จนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หยวนในที่สุด ราชวงส์หมิงถูกก่อตั้งขึ้น เป็นราชวงศ์ที่รุ่งเรืองในด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ในยุคนี้มีการสำรวจทางทะเลอย่างกว้างขวาง ถือเป็นอาณาจักรที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลานั้น

ในช่วงแรกของการปกครอง ราชวงศ์หมิงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปที่ปักกิ่งแทนที่เมืองหลวงเก่าอย่างหนานจิง เมื่อระบบทุนนิยมเริ่มขยายตัว นักปรัชญา เช่น หวัง หยางหมิง ได้วิพากษ์วิจารณ์และขยายลัทธิขงจื้อใหม่ด้วยแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยมและความเท่าเทียมกันของสี่อาชีพ[44] ชนชั้นนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นกำลังสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์และนำไปสู่ขบวนการคว่ำบาตรภาษี รวมทั้งเกิดความอดอยาก และเหตุการณ์สำคัญในการป้องกันจากการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–1598) และการรุกรานของราชวงศ์จินยุคหลัง ใน ค.ศ. 1644 ปักกิ่งถูกยึดครองโดยกองกำลังกบฏชาวนาที่นำโดยหลี่ จื้อเฉิง จนได้รับฉายาว่า "กษัตริย์ผู้กล้า" ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นกษัตริย์ จักรพรรดิฉงเจิน เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 9 และองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง จีนต้องประสบภาวะภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่งใน ค.ศ. 1644 หลี่จื้อเฉิง อดีตนายทหารผู้น้อย เริ่มรวบรวมสมัครพรรคพวกก่อการต่อต้านราชสำนักขึ้นจนสามารถยึดเมืองซีอานได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซุ่น จักรพรรดิฉงเจินทรงทำอัตวินิบาตกรรม

ในเวลาต่อมา เข้าสู่ยุคของราชวงศ์ชิง ถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. 1636 ถึง ค.ศ. 1912 ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ จักรพรรดิแมนจูทรงให้การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธแบบทิเบต ราชวงศ์ชิงปกครองโดยใช้รูปแบบขงจื๊อ ในปลายสมัยของราชวงศ์ชิงถือว่าได้เป็นยุคตกต่ำ เกิดการฉ้อโกง การแก่งแย่งอำนาจ และความอดอยากของประชาชน อีกทั้งยังต้องเผชิญการคุกคามจากภายนอกในยุคล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก โดยมีจักรวรรดิอังกฤษเป็นชาติแรก อังกฤษได้นำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนทำให้ราชสำนักชิงอ่อนแอ และนำไปสู่สงครามฝิ่น ความพ่ายแพ้ของราชวงศ์ชิงทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ และยังตามมาด้วการถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมหลายฉบับ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ความพ่ายแพ้ในพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ยังนำไปสู่การสูญเสียเกาะไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น

สาธารณรัฐจีน (1912-1949)

จากเหตุการณ์ความไม่สงบมากมาย ทำให้การปกครองระส่ำระส่ายอย่างหนักนำไปสู่การล้มสลายของราชวงศ์ การปฏิวัติซินไฮ่ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 (สิ้นสุดลงในปี พ.ศ 2455) ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิง โดยการนำของ ดร. ชุน ยัตเซน หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง แม้ว่าหลังจากเริ่มก่อการ ซุนยัดเซ็นจะต้องลี้ภัยออกไปต่างประเทศ แต่ซุนยัดเซ็นก็เดินทางไปในหลายประเทศเพื่อขอระดมทุนสนับสนุนจากคนจีนโพ้นทะเลและนายทุนในต่างแดน โดยมี หวงซิง สหายร่วมอุดมการณ์ของซุนยัดเซ็น เป็นผู้นำทหารทหาร ออกปฏิบัติการอยู่ภายในประเทศอีกหลายครั้ง สุดท้ายแล้วการปฏิวัติซินไฮ่ก็ส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงที่ทำให้ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดการโค่นล้มอำนาจครั้งนี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมจีนในเวลานั้น ขณะที่ผู้นำประเทศในเวลานั้นคือจักรพรรดิชาวแมนจูกลับไม่มีอำนาจและกำลังพอที่จะบริหารประเทศให้ดีขึ้นได้ แล้วยังถูกประชาชนมองว่าราชวงศ์ของชาวแมนจูได้แสวงหาประโยชน์จากคนจีน ซึ่งตลอดระยะเวลาปกครอง 268 ปี (พ.ศ. 2187 – 2455) มีการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนาง เหล่าขุนศึก ด้วยเหตุนี้ราษฎรส่วนมากจึงตกอยู่ในสภาพยากจน ชาวไร่ชาวนาถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แผ่นดินจีนถูกคุกคามจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก และ ญี่ปุ่น จีนได้ทำสงครามต่อต้านการรุกรานของกองกำลังต่างชาติเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด ทำให้คณะปฏิวัติไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของราชวงศ์ชิง

สาธารณรัฐประชาชนจีน

การสู้รบส่วนใหญ่ในสงครามกลางเมืองจีนยุติลงในปี พ.ศ. 2492 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ และพรรคก๊กมินตั๋งต้องล่าถอยไปยังเกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่เรียกว่า "จีนคอมมิวนิสต์" หรือ "จีนแดง"

แผนเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ล้านคน ใน พ.ศ. 2509 เหมาและพันธมิตรทางการเมืองได้เริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งกินเวลาจนกระทั่งเหมาถึงแก่อสัญกรรมในอีกหนึ่งทศวรรษถัดมา การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคและความกลัวสหภาพโซเวียต นำไปสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่ในสังคมจีน ใน พ.ศ. 2505 ช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเลวร้ายลงมากที่สุด เหมาและโจว เอินไหล พบกับริชาร์ด นิกสันในกรุงปักกิ่งเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติแทนที่สาธารณรัฐจีน และเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

การปฏิรูปและประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

หลังจากเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2519 และการจับกุมตัวแก๊งออฟโฟร์ ซึ่งถูกประณามว่าเป็นผู้ที่ใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เติ้ง เสี่ยวผิงได้แย่งชิงอำนาจจากทายาททางการเมืองที่เหมาวางตัวไว้ หัว กั๋วเฟิง อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นประธานพรรคหรือประมุขแห่งรัฐ ในทางปฏิบัติแล้ว เติ้งเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น อิทธิพลของเขาภายในพรรคนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้ผ่อนปรนการควบคุมเหนือชีวิตประจำวันของพลเมืองและคอมมูนถูกยุบโดยชาวนาจำนวนมากได้รับที่ดินเช่า ซึ่งได้เป็นการเพิ่มสิ่งจูงใจและผลผลิตทางเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงจีนจากระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งมีสภาพเป็นตลาดเปิดเพิ่มมากขึ้น หรือที่บางคนเรียกว่า "ตลาดสังคมนิยม" และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เรียกมันอย่างเป็นทางการว่า "สังคมนิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน" สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2525

ในปี พ.ศ. 2532 การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทางการผู้สนับสนุนการปฏิรูป หู ย่าวปัง เป็นการจุดชนวนการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวถูกปราบปรามลงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การประณามและการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลจีน

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และนายกรัฐมนตรีจู หรงจี สองอดีตนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ภายใต้การบริหารงานเป็นระยะเวลาสิบปีของทั้งสอง สมรรถนะทางเศรษฐกิจของจีนได้ช่วยยกระดับฐานะของชาวนาประมาณ 150 ล้านคนขึ้นจากความยากจนและรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไว้ที่ 11.2% ต่อปี จีนเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2544

ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจีนได้เริ่มวิตกกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้จะมีผลกระทบในด้านลบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความกังวลคือบางภาคส่วนของสังคมไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเพียงพอ ตัวอย่างหนึ่งคือช่องว่างใหญ่ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท ดังนั้น ภายใต้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดปัจจุบัน ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้เริ่มดำเนินนโยบายเพื่อที่จะหยิบยกประเด็นปัญหาของการแจกจ่ายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แต่ผลที่ออกมานั้นยังสามารถพบเห็นได้ ชาวนามากกว่า 40 ล้านคนถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินของตน ซึ่งเป็นเหตุปกติธรรมดาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงและการจลาจลกว่า 87,000 ครั้งในปี พ.ศ. 2548 สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของจีนแล้ว มาตรฐานการดำเนินชีวิตมองเห็นได้ว่ามีการพัฒนาอย่างมาก และเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น แต่การควบคุมทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับความยากจนในชนบท

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิงปกครองประเทศนับแต่ปี 2012 และมุ่งดำเนินการความพยายามขนานใหญ่เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจจีน (ซึ่งประสบปัญหาจากความไม่มั่นคงทางโครงสร้างและความเติบโตที่ชะลอตัวลง) และยังปฏิรูปนโยบายบุตรคนเดียวและระบบการลงโทษ ตลอดจนการกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ ในปี 2013 ประเทศจีนเริ่มต้นข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก

การระบาดทั่วของโควิด-19 ทั่วโลกมีต้นกำเนิดในอู่ฮั่นและมีการระบุครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2019 รัฐบาลจีนตอบสนองด้วยยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID) นับเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้แนวทางดังกล่าว เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวกว้างขวางขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่างการระบาดทั่ว โดยมีการสร้างงานที่มั่นคงและการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศเป็นประวัติการณ์ แต่การบริโภคค้าปลีกยังคงต่ำกว่าคาด


footer